ตามไปดูโปรเจ็ก “ศูนย์วัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประจําเกาะ และเป็นสถานที่เก็บรักษาเรื่องราวทางประวัติของชุมชนเกาะยาวน้อยเพื่อให้ประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ เรื่องราวจึงต้องถูกบอกต่อ ศูนย์วัฒนธรรมเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่งที่สำคัญ ที่มีอาคารต้นแบบที่มีการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ดร.ฐิติพร เปกะมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะยาววิทยา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความคิดนี้ พร้อมกับการผลักดันให้อาคารหลังนี้ กลายเป็นอาคารของชาวเกาะยาวน้อยอย่างแท้จริง ด้วยการระดมทุน และแรงกายแรงใจ การเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมสร้างของคนเกาะยาวน้อย ลองติดตามกันค่ะ
พลังใจ พลังงานแห่งการเรียนรู้
โรงเรียนเกาะยาววิทยา โรงเรียนมัธยมแห่งเดียวบนเกาะยาวน้อยที่จัดการพื้นที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พลังงานทางเลือกเพื่อความยั่งยืนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน โดยมีหัวเรือใหญ่คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เห็นประโยชน์ของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ดร.ฐิติพร เปกะมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะยาววิทยา ไม่ใช่คนพื้นที่ในเกาะยาวน้อย แต่ความผูกพันกับพื้นที่เกาะยาวน้อยตั้งแต่เป็นครูสอนเด็กประถม ความก้าวหน้าในการงานทำให้ต้องย้ายโรงเรียนไปที่อื่น แต่พอใกล้เกษียณอายุราชการ ท่านกลับมาที่บ้านที่ไม่ใช่บ้านเกิด และกลับมาเพื่อพัฒนาโรงเรียนและชุมชน
“มีโอกาสก็เลยเข้ามาช่วยพื้นที่ที่เป็นบ้านของเรา เคยอยู่บ้านตัวเองอย่างนี้”
หากย้อนไปยังวันวานสมัย ดร.ฐิติพร มาบรรจุเป็นครูประถมที่เกาะยาวน้อย ท่านเล่าว่าตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้า มีเครื่องไฟปั่นอยู่เครื่องเดียว ไฟปั่นก็จะมีเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีเฉพาะตอนกลางคืน เริ่มห้าโมงเย็นก็จะเริ่มปั่นไฟทั้งคืน ต่อมาไฟฟ้าสายเมนหลักจากภูเก็ตก็เข้ามาเมื่อประมาณสี่ห้าปีนี้เอง พื้นที่เกาะยาวน้อยก็เริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่เวลาฝนตก ฝนจะตกหนักมากติดต่อกันเป็นสัปดาห์ แล้วพอมีฝนตกฟ้าคะนองไฟฟ้าจะดับ เป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่เมื่อไฟฟ้าดับก็ส่งกระทบกับการเรียนรู้ของนักเรียน หากต้องใช้สื่อจาก DLTV และการสืบค้นข้อมูลจากระบบอินเตอร์เน็ต
“ เราเดินระบบอินเตอร์เน็ตตามอาคารได้เป็นบางส่วนเป็นบางจุด เราส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้กับสื่อที่หลากหลายมีทักษะในการสืบค้นข้อมูล ทำให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเกาะยาวน้อยสอบได้วิศวะ พยาบาล สาธารณสุข คุณภาพนักเรียนไม่ด้อยไปกว่าโรงเรียนอื่น”
การส่งเสริมให้ครูมีความเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนรายบุคคล การใช้สื่อที่ทันสมัย และการสื่อสารระหว่างครู นักเรียน ผู้ปกครองที่มีประสิทธิภาพทำให้ ท่านผู้อำนวยการได้รับรางวัล OBEC AWARDS คือรางวัลที่มีโอเน็ตสูงติดต่อกันห้าปีในปี พ.ศ. 2562 อีกทั้งยังได้รับคำเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปเป็นวิทยากรระดับประเทศในฐานะที่เป็นโรงเรียนในพื้นที่เกาะแก่งที่มีผลโอเนตสูงติดต่อกันเกิน 5 ปี
พลังงานทางเลือกคือทางรอด
ไม่เพียงแต่การจัดการด้านวิชาความรู้ที่ทำให้ ดร.ฐิติพร ได้รับรางวัล ท่านคิดว่าการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนสอนทางวิชาการ ท่านจึงมีแนวคิดเปิดรับการใช้โซลาร์เซลล์ในโรงเรียน ท่านเห็นว่าโซลาร์เซลล์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ประหยัดพลังงาน ประหยัดงบประมาณ สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ให้ครูส่งงานด้วยระบบ e-office ให้ครูพยายามลดการใช้กระดาษ นักเรียนเริ่มส่งข้อสอบทางออนไลน์
“ เราจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในโรงเรียน ถ้าเรามีโซลาร์เซลล์เวลาไฟดับก็ยังสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้ การเข้ามาของโครงการฯมาให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้งาน วิธีการดูแลรักษา และซ่อมแซมเบื้องต้น กับครู และนักเรียนที่สนใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น นอกจากการใช้พลังงานทางเลือกแล้วในโรงเรียนยังมีวิธีการจัดสรร ดูแลทรัพยากรที่ทุกท่านเห็นแล้ว ”
ศูนย์วัฒนธรรมชุมชน…
ประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ เรื่องราวที่ถูกบอกต่อ
“ ผอ.มาอยู่ก็ไปเจอห้องหนึ่งที่เค้าปิดตายเอาไว้ มีป้ายติดว่าห้องศูนย์วัฒนธรรม พอไปดูนะมันเป็นของเก่าของแก่ที่เราเคยรู้จักตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายนานมาก บางอย่างเป็นร้อยปี มีเหรียญเก่า ๆ ราคาเป็นแสนก็มีนะ ในความคิดครั้งแรกก็คืออยากไปสร้างห้องข้างนอก ถ้าเราเอาของพวกนี้ไปไว้ตรงโน้น เราก็จะก็ทำกล่องบริจาคให้พวกนักท่องเที่ยวที่เข้าไปดู เขาหยอดบริจาคเอง โดยที่เราไม่ต้องไปเก็บค่าเข้าหรอก แล้วแต่ศรัทธา ”
“ ส่วนหนึ่งที่เราคิดคือเรื่องงบประมาณ เราได้ประหยัดไปเยอะมาก เราก็จะได้เอามาใช้ในเรื่องของการเรียนการสอนปรับปรุงในเรื่องของเทคโนโลยีในเรื่องของงานอาชีพอะไรต่าง ๆ ครั้งแรกไม่ได้คิดว่าจะติดโซลาร์เซลล์นะ จะทำเป็นห้องศูนย์วัฒนธรรมปกติ แต่พอโครงการเกาะพลังงานสะอาดเข้ามาทำกิจกรรมการมีส่วนร่วม ชุมชนช่วยร่วมพัฒนาแบบรูปแบบอาคาร และมีการติดโซลาร์เซลล์ เราตั้งใจให้ศูนย์วัฒนธรรมเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว พอจะมีการสร้างขึ้นมา มีพลังงานแสงอาทิตย์ตรงนี้มาใช้ ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เรา แล้วก็เป็นสิ่งที่เป็นหน้าเป็นตาของเกาะยาวได้ พอฝรั่งขึ้นเรือมาเขาก็จะมานั่งพักบริเวณตรงนี้ แทนที่ว่าฝรั่งมาถึงก็จะเปิดแผนที่แล้วก็เที่ยวถาม เขามาตรงนี้ตรงเดียวก็จบ ท่องเที่ยวเราก็จะได้ทั่วหมดเลยทั้งเกาะยาว ”
“ ก่อนโน้นมีแค่โรงเรียนมีแค่ ผอ.กับกรรมการกับพวกชุมชนส่วนหนึ่งที่คิดจะปรับปรุงศูนย์วัฒนธรรม แต่พอโครงการฯ เข้ามา มันก็เลยขยายผลไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ แต่เดิมที่เราทำก็คือเราทำในส่วนของโรงเรียนของชุมชนของผู้ปกครอง แล้วก็ของเครือข่าย เราอยากให้ทุกคนในเกาะยาวน้อยได้มาใช้ตรงนี้ร่วมกัน รวมกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในเกาะยาว ทีนี้พอเรามีศูนย์วัฒนธรรมตรงนี้ขึ้นมา ชุมชนก็มีส่วนร่วมเพราะเราต้องไปขอข้อมูลอะไรต่าง ๆ จากแต่ละพื้นที่เข้ามาใช้ตรงนี้ด้วย มันก็ได้ร่วมกันแล้ว
พอมีพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ก็ดีเข้าไปอีกเป็นสองสามเท่า คือเราได้ร่วมด้วยช่วยกันทั้งชุมชนทั้งเด็กนักเรียนทั้งพวกนักท่องเที่ยว ทุกสิ่งที่เข้ามาตรงนี้มันได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันหมดเลย มันก็เป็นการดีที่หนึ่งเราได้โปรโมทในเรื่องของเกาะยาว เราต้องมาพัฒนาตรงนี้ให้มันดีขึ้นว่ามีข้อมูลให้เขา ไม่ต้องไปถามที่โน้นที่นี่ คนมาเที่ยวเขาก็สบายใจ ดูจากตรงนี้ก็ได้ ”
จากฝันของดร.ฐิติพรที่ต้องการทำเรื่องนี้ให้เสร็จก่อนเกษียน นอกจากที่ท่านตั้งใจแล้ว วันนี้ศูนย์วัฒนธรรมชุมชน กลายเป็นสิ่งที่ชาวชุมชนเกาะยาวน้อยเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมเรียนรู้และร่วมสร้าง ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ต้นแบบ การเลือกแบบของอาคาร และได้เรียนรู้ในเรื่องของโซลาร์เซลล์ทั้งการติดตั้งและการดูแลรักษาให้ใช้งานได้อย่างยั่งยืน
“ ก็ดีใจนะคะที่ว่าชุมชนได้เห็นความสำคัญ ที่เราทำตรงนี้ได้เพราะเห็นความสำคัญว่าลูกหลานของเขาได้มาอยู่ตรงนี้ไม่ได้เฉพาะของโรงเรียน มันเป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้มามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทั้งของภาครัฐและของเอกชน อย่างโรงพยาบาล อบต. เทศบาล รวมถึงผู้ปกครองของนักเรียน มีส่วนร่วมช่วยกันพัฒนาตรงนี้ ก็เป็นการเผยแพร่ความรู้ให้กับน้อง ๆหรือว่าคนที่เขาสนใจ ”
สิ่งที่ประทับใจดร.ฐิติพรมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ
“ ก่อนนี้ไม่เคยมีสถาปนิกมาออกแบบ ไม่มีการได้มาโหวตเสียงแบบนี้เป็นอย่างนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่ ผอ.เจอที่อยู่ที่นี่ ที่เราเอาแบบมาให้เขาได้มีส่วนร่วมอย่างนี้ มันไม่เคยจะมี
แต่วันนี้ก็ดีมากเลยแบบตรงนี้ที่ได้สร้างขึ้นมา ชาวเกาะยาวได้มามีส่วนร่วมในการเลือกแบบ มันเป็นความภาคภูมิใจว่า หนึ่งเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ก็เหมือนกับว่าเขาได้รับเกียรติที่เข้ามาช่วยในเรื่องความคิดอะไรต่าง ๆ ที่เขาได้แสดงออกมันเป็นความภาคภูมิใจว่าเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการเลือกแบบนี้ แบบนี้ฉันเลือกนะ พอเราเลือกแบบนี้ เราได้ใจเขามาแล้ว อย่างน้อย ๆ คือ ผู้นำ พอผู้นำได้อย่างนี้ เขาก็จะถ่ายทอดไป แทนที่เราจะทำงานอยู่คนหนึ่ง ก็จะกระจายไปสองสามสี่ห้า เล่าต่อกัน เพราะที่นี่เป็นสังคมเล็ก ๆ พอเรามีอะไรที่นั่นขึ้นมา เขาก็จะไปเล่าต่อ ก็เป็นสิ่งที่ดี ดีมากเลย ความคิดตรงนี้ยอดเยี่ยมมาก ไม่เคยเห็นที่ไหน”
“เห็นเขาเลือกแบบที่สามกันมากสุด ผอ.เลือกแบบที่หนึ่งคนเดียว เพราะเครียดเรื่องงบประมาณ(หัวเราะ) เราเอาความคิดทุกคนหลาย ๆ คนมารวมกันก็น่าจะโอเค อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าเขาได้แสดงออกว่าเขาได้เลือก
ผอ. เอาเรื่องนี้เข้าไปในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการทุกเดือน ไปอธิบายว่าวัตถุประสงค์ของเราที่ทำตรงนี้เพราะอะไร ตอนนี้ความคืบหน้าของเราไปถึงไหน ทำศูนย์วัฒนธรรมแล้วก็มาบวกกับการใช้โซลาร์เซลล์ เราต้องการที่จะให้เกาะยาวน้อยแล้วก็พื้นที่ในเกาะยาว ชุมชนทั้งหมด รวมผู้มาเยี่ยม นักท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มาเห็นในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน ที่เราสามารถที่จะประหยัดพลังงานไปเยอะ แล้วก็ชุมชนได้มีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราร่วมมือกันตรงนี้เราไม่ได้ทำเฉพาะโรงเรียนเกาะยาววิทยาอย่างเดียว เราทำให้ชุมชนทั้งหมดในเกาะยาวได้มาใช้ร่วมกัน แล้วก็ชุมชนที่มาใช้ก็ทุกอาชีพทุกอายุ ”
ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนเกาะยาวน้อย…หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของโครงการเกาะพลังงานสะอาด เป็นอาคารที่เกิดจากการระดมทุน ระดมแรงกาย แรงใจ การมีส่วนร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ และร่วมสร้างโดยชุมชนเกาะยาวน้อย ในขณะนี้ทำการก่อสร้างและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แล้วเสร็จเรียบร้อย และอีกไม่นานนี้จะได้เปิดให้บริการชุมชนและต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยี่ยมชมเกาะยาวน้อยต่อไป