โครงการเกาะพลังงานสะอาดของคนเกาะยาว กำลังดำเนินงานไปอย่างรวดเร็วใกล้เคียงจะถึงฝั่งแล้ว โครงการนี้จะทำให้เกาะยาวอยู่ ยั่งยืน ยาว ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าเป็นโครงการที่ไม่ใช่แค่จะมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ชาวบ้านใช้งาน หากแต่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการพลังงานสะอาด กระตุ้นให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจด้านพลังงาน จนสามารถเป็นชุมชนต้นแบบ และวาดหวังไปถึงการสร้างเครือข่ายพลังงานชุมชนในพื้นที่เกาะในทะเลอันดามันเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตามชื่อเต็มๆของโครงการ คือ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและพัฒนาเครือข่ายพลังงานชุมชนในพื้นที่เกาะเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน (Clean Energy, Green Island)
แล้วการมีส่วนร่วมนั้นสำคัญอย่างไร ทำไมชาวเกาะยาวถึงกับบอกว่าไม่เคยเจออะไรแบบนี้ที่คนเกาะยาวทุกเพศ ทุกวัย หลากอาชีพ แม้กระทั่งนักเรียนเองมีสิทธิมีเสียง วิพากษ์ ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ ลงมือทำอย่างรวดเร็ว พวกเขาคิดและรู้สึกอย่างไร
ในขณะเดียวทีมคณะทำงาน ก็ไม่ใช่การทำงานที่แค่มีสถาปนิกมานั่งคิด ออกแบบอาคารออกมา สั่งให้ช่างลงมือสร้าง หากแต่เป็นการทำงานร่วมกันของชาวบ้านทุกระดับ ช่างในพื้นที่ สถาปนิกชุมชน วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มาร่วมหัว จมท้าย รับฟัง ร่วมคิด วางยุทธศาสตร์ร่วมกันจนสามารถก่อร่างสร้างเครือข่ายวิสาหกิจช่างชุมชนขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง
Share&Learn ในโมเดลของเกาะยาว เกาะพลังงานสะอาดเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องลงเกาะ ไปติดตามอีกแล้วล่ะค่ะ
การออกแบบกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม
การสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาแหล่งพลังงานชุมชน ด้วยแนวคิดสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการทำงาน โครงการฯ ใช้แนวคิดการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Design) 4 ขั้นตอน
กระบวนการเริ่มจากการสำรวจพื้นที่เกาะยาว ทำให้ทีมงานมีความเข้าใจในบริบทของชุมชนชาวเกาะยาวที่พบว่าเรื่องการท่องเที่ยว และการปรกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความสำคัญมาก และยังพบว่าชุมชนมีศักยภาพมากที่จะมาร่วมกันพัฒนาพลังงานสะอาด ในระดับที่จะร่วมเป็นผู้ขับเคลื่อน จึงได้มาสู่การจัดวงประชุมอย่างส่วนร่วมกับชาวเกาะยาว เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อบอกกล่าวข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ ตลอดจนรับฟังความเห็น คำถามต่างๆ จากชุมชน เช่น ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเป็นอย่างไร? ติดตั้งแล้วคุ้มค่าหรือไม่ เทียบกับการใช้ไฟจากการไฟฟ้าแล้วอะไรคุ้มกว่ากัน? จากการประชุมครั้งนี้พบว่า ชาวบ้านส่วนน้อยใช้โซลาร์เซลล์ แต่ส่วนหนึ่งก็สนใจ อยากใช้ อยากเรียนรู้การใช้พลังงานทางเลือกโซลาร์เซลล์
นอกจากนี้ชุมชนยังได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนสรุปเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขในการคัดเลือกพื้นที่นำร่องของโครงการ เช่น ต้องเป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ต้องมีมติร่วมว่ามีประเด็นน่าสนใจพิเศษ หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเป็นพื้นที่ที่เพื่อการเรียนรู้ได้ในอนาคต และในที่สุดชุมชนได้พื้นที่นำร่องที่ต้องการ โดยคณะทำงานได้นำมาหารือถึงพื้นที่ซึ่งน่าสนใจอยู่ทั้งหมด 3 แห่ง เช่น ท่าเรือมาเนาะ โฮมสเตย์ผู้ใหญ่หยา สวนเกษตรบังหมาน
เมื่อคณะทำงานลงสำรวจพื้นที่แล้ว ได้ข้อสรุปจึงได้ประกาศพื้นที่นำร่อง เป็นพื้นที่ต้นแบบในโครงการ คือ ศูนย์วัฒนธรรมชุมชน โรงเรียนเกาะยาววิทยา ใกล้ท่าเรือมาเนาะ ศาลาคาเฟ่ และพื้นที่เกษตร 4 พื้นที่ คือ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงพรุใน พื้นที่เรียนรู้เกษตรแบบ Smart Farmer พื้นที่เกษตรอินทรีย์ และพื้นที่โคกหนองนาโมเดล
ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนเกาะยาว
รักผักฟาร์ม
บ้านสวนฟาร์ม
ถิ่นเกาะยาวโซลาร์แอนด์ฟาร์ม
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงพรุใน
หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมต้องมีพื้นที่ต้นแบบ ทำไมต้องมาออกแบบร่วมกับชาวบ้าน ต้องถามความคิดเห็นชาวบ้านทำไม ชาวบ้านจะรู้เรื่องการออกแบบหรือ?
อาจารย์นุ๊ก-จันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์ และอาจารย์เม่น – อภิรดี อานมณี สถาปนิกชุมชน จากสถาบันอาศรมศิลป์ และผศ.ธิป ศรีสกุลไชยรัก ที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชี่ยวชาญด้านงานสถาปัตยกรรมชุมชน เป็นหนึ่งในคณะทำงานโครงการเกาะพลังงานสะอาด บอกเราถึงแนวคิดการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมว่า
อาจารย์ธิป “ เพราะว่าเราเชื่อว่าพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่งไม่ได้ถูกใช้ด้วยคนๆเดียวตลอดเวลา หลายๆคนมีสิทธิมาใช้ได้ ฉะนั้นกระบวนการที่ต้องพูดคุยกันเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะงานที่เราออกแบบ เป็นเรื่องของสาธารณะ แล้วเรายังอยากต้องการให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ฉะนั้นเราจำเป็นที่ต้องให้มีการมีส่วนร่วม”
“ เกาะพลังงานสะอาดที่เราทำนี่ เราก็ลงไปชวนชาวบ้านคุย ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ต้นแบบที่เหมาะสมที่คิดว่าจะสามารถเรียนรู้และรักษาต่อไปอย่างยั่งยืน ควรจะเป็นพื้นที่ตรงไหน เราไปเจอพื้นที่ตรงท่าเรือมาเนาะ ชุมชนบอกว่าถ้ามาเกาะยาวน้อยต้องเจอเป็นพื้นที่แรก แล้วเราก็ไปเจออาคารศูนย์ DSI ของโรงเรียนเกาะยาววิทยา ใกล้ท่าเรือมาเนาะ” อาจารย์นุ๊กให้ข้อมูลเพิ่ม
เหตุบังเอิญไม่มี เมื่อทีมสถาปนิกไปเจอดร.ฐิติพร เปกะมล ผูอำนวยการโรวเรียนเกาะยาววิทยา กำลังปลูกต้นไม้อยู่หน้าโรงเรียน บนพื้นที่ที่กำลังเตรียมงานก่อสร้างอยู่ ก็ได้มีโอกาสพูดคุย บอกเล่าถึงโครงการเกาะพลังงาน และการสรรหาพื้นที่ต้นแบบ ทำให้ทราบว่าท่านผู้อำนวยการกำลังวางแผนจะทำการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมชุมชน
“เราไปเจอผอ.โรงเรียน ท่านกำลังปลูกต้นไม้อยู่หน้าไซต์งาน ที่กำลังเริ่มการก่อสร้าง บริเวณเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทีเดียว เหมาะมากๆ “ อาจารย์เม่น เสริมข้อมูลในเรื่องการเสาะหาพื้นที่ต้นแบบให้ฟังอย่างขำๆ ว่าพื้นที่ต้นแบบแห่งแรก คือ ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนเกาะยาวมีที่มาอย่างไร
ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนเกาะยาว ภายใต้แนวคิด Zero Energy
ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนเกาะยาว จะเป็นพื้นที่ศูนย์ข้อมูลชุมชน(Information Center) ตำบลเกาะยาวน้อย ภายใต้แนวคิด Zero Energy ในการเป็นต้นแบบของพื้นที่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เองจากสภาพบริบทที่เป็นอยู่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับโรงเรียนในการบริหารจัดการพื้นที่ และเป็นอาคารต้นแบบช่วยในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับเกาะยาวน้อยในฐานะเกาะพลังงานสะอาด และยังเป็นพื้นที่พักคอยหรือจุดนัดพบสำหรับนักท่องเที่ยวในระหว่างที่รอเดินทางข้ามเกาะ โดยเป็นพื้นที่ซึ่งในอนาคตสามารถเป็นจุดนัดพบแห่งใหม่ของเกาะยาวน้อย และยังสามารถเป็นพื้นที่จัดแสดงข้าวของ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องศิลปวัฒนธรรมเดิมในโรงเรียน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ประวัติความเป็นมาของเกาะให้ผู้คนได้รับรู้
เมื่อได้ข้อสรุปเรื่องพื้นที่ต้นแบบแล้ว ทีมสถาปนิกก็กลับมาทำงานในเรื่องของทั้งการออกแบบอาคารและเทคโนโลยี ซึ่งอาจารย์เม่นให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“ การออกแบบอาคารจะต้อง หนึ่ง ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน คือโรงเรียน สองตอบโจทย์ของโครงการที่จะต้องเป็นการใช้โซลาร์เซลล์ และออกแบบแบบ Passive /active design และสาม ตอบโจทย์ภาพลักษณ์ของการเป็นตัวแทนของความเป็นเกาะยาวน้อยตามหลักการ Passive /active design ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อม แดด ลมฝน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน ส่วนในเรื่อง active design เราอยากออกแบบให้เป็นพลังงานทางเลือก พลังงานจากโซลาร์เซลล์ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราก็เอาข้อมูลกลับไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานว่ามองตรงนี้อย่างไร ”
สำหรับในด้านของพลังงาน อาจารย์สุชน ทรัพย์สิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมบอกว่า “ เราเห็นว่าเกาะยาวเป็นพื้นที่ร้อนชื้น ความชื้นสูง เรียกว่า ฝนแปดแดดสี่ แสงที่อยู่ในพื้นที่ส่วนมากก็จะเป็นแสงที่เรียกว่าแสงกระเจิง ไม่ได้มาเป็นลำแสง แสงกระเจิงก็คือ แสงที่ไปกระทบกับเมฆก่อนแล้วมันก็ฟุ้งลงมา ในพื้นที่มันมีเมฆเยอะ มีเมฆเกินกว่า 50 เปอร์เซนต์ ข้อมูลพวกนี้มันก็จะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขในการออกแบบอาคาร
นอกจากนั้นพื้นที่มีภูเขาอยู่ทางทิศตะวันตก ทิศใต้มีต้นไม้บัง มีโอกาสจะได้แสงอาทิตย์ทางทิศตะวันออกทางเดียว เป็นช่องที่เปิดรับแสงมากที่สุด ทิศใต้มีต้นไม้บัง ทิศเหนืออาจจะมีอาคารใกล้ ๆ บัง ทิศตะวันออกแม้ไม่ใช่มุมที่ได้แสงสำหรับผลิตพลังงานได้เยอะที่สุด แต่โอกาสสำหรับตรงนี้ทิศตะวันออกดีที่สุด เราก็เลือกมุมที่จะทำได้ ทิศตะวันออก แล้วก็ส่วนหนึ่งก็คือนอกจากเราต้องการแดดแรง ได้พลังงานเยอะ แต่เราก็ต้องบังแดดด้วย โดยแผงโซลาร์เซลล์ก็เหมือนกางร่มให้อาคาร ส่วนอีกด้านหนึ่งของอาคารเป็นเนินเขา ซึ่งแทบไม่โดนแดดเลย เพราะว่าอาคารบัง ฉะนั้นถ้าเราเปิดช่องตรงนี้ ดินที่มันเย็น จะทำให้เรารู้สึกเย็นขึ้น เหมือนมีผนังเย็นๆ ”
อาจารย์เม่นเสริมต่อในเรื่องการมีส่วนร่วมในการออกแบบอาคารที่ต้องการให้มีหลายทางเลือกให้ทางชุมชนได้เลือก ทีมสถาปนิกชุมชนจึงออกแบบอาคารขึ้นมา 3 แบบ 3 ทางเลือก เพื่อนำมาเสนอชุมชนในกิจกรรมกระบวนการร่วมคิดเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
ในเรื่องการมีส่วนร่วมเลือกแบบอาคารนี้อาจารย์ธิปให้ความเห็นว่า “ การให้ชุมชนมีโอกาสเลือกแบบอาคาร บางครั้งก็ได้แบบตรงกับใจเรา แต่บางครั้งก็ไม่ตรงกับใจเรา อย่างครั้งนี้ที่เกาะยาวน้อย แบบโรงเรียนที่ชุมชนเลือกไม่ได้ตรงกับที่ทีมสถาปนิกต้องการ แต่ว่าเราต้องรับฟังความคิดเห็น และเราก็ปรับ อันนี้เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ ชาวบ้านเขาเอาอย่างนี้แต่จริง ๆ แต่เราต้องแชร์ความเห็นของเรากับชาวบ้านด้วย แล้วถ้าเรากล้าที่จะแชร์ เราควรจะแชร์กับเขาว่า อย่างที่พี่ว่าก็ดี แต่อย่างนี้มันก็มีข้อดี แล้วจะเอายังไงดี บางทีอาจเกิดเป็นแบบที่สี่ เป็นแบบที่ดีกว่าก็ได้ ”
นักเรียนของโรงเรียนเกาะยาววิทยาที่ร่วมอยู่ใน Workshop การเลือกแบบอาคาร บอกถึงความรู้สึกที่ได้อยู่ในกิจกรรมนี้ว่า “ เขาให้ผมเลือกแบบอาคาร ผมก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นสิ่งที่ตัวเองเลือก ก็ไม่เคยมีโอกาสได้เลือกอะไรแบบนี้ “
เช่นเดียวกับผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะยาว ดร.ฐิติพร ก็ย้ำว่า “ ดีมากเลยแบบนี้ ชาวเกาะยาวได้มามีส่วนร่วมในการเลือกแบบ มันเป็นความภาคภูมิใจว่าเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ก็เหมือนกับว่าเขาได้รับเกียรติที่เข้ามาช่วยในเรื่องความคิดอะไรต่าง ๆ เขาได้แสดงความคิดเห็น มันเป็นความภาคภูมิใจว่าเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการเลือกแบบนี้ แบบนี้ฉันเลือกนะ เป็นสิ่งที่ดี ดีมากเลย ความคิดตรงนี้ยอดเยี่ยมมาก ไม่เคยเห็นที่ไหน นี่เป็นครั้งแรกที่ผอ.เจอ”
สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกสิ่งหนึ่งของแนวคิดการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ( Participatory design ) ก็คือ การที่อาคารศูนย์วัฒนธรรมชุมชนจะต้องอยู่กับชุมชนตลอดไป กระบวนการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ทำให้คนเกาะยาวมีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น เป็นผู้ใช้งานอาคารจริง ๆ เพราะเจ้าของก็คือโรงเรียน คือชุมชน ที่ทางดร.ฐิติพร บอกว่า “เราต้องการที่จะให้เกาะยาวน้อยแล้วก็พื้นที่ในเกาะยาว ชุมชนทั้งหมด รวมผู้มาเยี่ยม นักท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้มาเห็นในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน แล้วก็ชุมชนได้มีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราร่วมมือกันตรงนี้เราไม่ได้ทำเฉพาะโรงเรียนเกาะยาววิทยาอย่างเดียว เราทำให้ชุมชนทั้งหมดในเกาะยาวได้มาใช้ร่วมกัน “
“การมีส่วนร่วม” คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้การเข้าถึงและการบริหารจัดการพลังงานโดยภาคประชาชน มีคุณค่าและมีความหมาย รวมทั้งขยายผลก่อให้เกิดเป็นเครือข่ายพลังงานชุมชนที่ยั่งยืน โดยถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเสริมสร้างฐานความคิดของชุมชนด้านพลังงาน ด้วยการบูรณาการ “พลังงาน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตเข้ากับแผนงานพัฒนา ชุมชนได้อย่างสมบูรณ์