เมื่อร้านคาเฟ่เล็กๆ กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยแนวคิดของผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ต้องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อการ “พึ่งตนเอง” และตอบโจทย์การขยายตัวของการท่องเที่ยวในประเทศหลังวิกฤติโควิด19 ผ่านไป และในอนาคตที่เราพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา
ผู้ใหญ่หยา – ประพันธ์ เบ็นอ้าหมาด อดีตผู้ใหญ่บ้านและเจ้าของร้านศาลาคาเฟ่ ที่ผันตัวมาทำธุรกิจคาเฟ่ที่ตั้งใจเลือกใช้พลังงานสะอาดในการช่วยดำเนินธุรกิจ มาลองติดตามแนวคิดและวิธีการสร้าง “คาเฟ่พลังงานสะอาด” ที่ผู้ใหญ่มุ่งหวังที่จะสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ให้คนในชุมชนได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องการใช้พลังงานสะอาดบนเกาะอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมและพัฒนาเครือข่ายพลังงานชุมชนในพื้นที่เกาะยาว
“ศาลาคาเฟ่” คืออีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบบนเกาะยาวน้อย ในโครงการส่งเสริมการมีส่วนรวมและพัฒนาเครือข่ายพลังงานชุมชนในพื้นที่เกาะเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน หรือโครงการเกาะพลังงานสะอาด โดยทีมสถาปนิก สถาบันอาศรมศิลป์เข้าไปช่วยในการออกแบบปรับปรุงอาคารให้เหมาะสม โดยใช้แนวความคิดการใช้พลังงานโดยวิธีธรรมชาติ (Passive Design) และได้มีการออกแบบทางเลือกการลงทุนและการคุ้มทุนในการติดโซลาร์เซลล์ ให้ผู้ใหญ่หยาได้พิจารณาและตัดสินใจอีกด้วย
ผู้ใหญ่หยาเป็นคนเกาะยาวโดยดั้งเดิม ท่านเป็นคนคุยสนุกและมีอารมณ์ขัน เมื่อทีมงานบอกว่าให้ผู้ใหญ่แหลงใต้ได้เลยในการพูดคุยกัน ผู้ใหญ่กลับหัวเราะร่วนและออกตัวว่าพูดใต้ไม่เก่ง (ฮา)
ผู้ใหญ่ย้อนอดีตให้ฟังตั้งแต่สมัยที่เกาะยาวไม่มีไฟฟ้า สมัยก่อนใช้ตะเกียงน้ำมัน ต่อมามีการใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าเอง จนมาถึงเมื่อมีโครงการเชื่อมไฟฟ้ามาจากภูเก็ต ผ่านเคเบิ้ลใต้น้ำ ก็ทำให้การใช้ไฟฟ้าบนเกาะค่อนข้างดีขึ้น สะดวกขึ้น
“ หมู่บ้านท่าเขาของเราเป็นหมู่บ้านอยู่ห่างหมู่บ้านอื่น ๆ สายไฟฟ้าต้องผ่านภูเขาแล้วก็ต้องผ่านต้นไม้มากว่าจะถึง การจ่ายไฟของเราค่อนข้างจะมีปัญหาอุปสรรคพอสมควร ในช่วงมรสุมมีต้นไม้ล้มพาดสายไฟฟาบ้าง สายขาด ไฟฟ้าดับบ่อยมากเลยครับ แต่ว่าเราก็ยังดีใจ ยังโอเคว่าเราได้ใช้ไฟฟ้าเหมือนเพื่อน…เรื่องปัญหาไฟฟ้าที่ไม่แน่นอนนี้ ผมคิดมานานแล้วเหมือนกัน แต่ยังคิดไม่ออกว่ามันจะมีช่องทางไหนที่จะเป็นทางเลือกของเรา”
“ศาลาคาเฟ่” ร้านกาแฟที่เป็นจุดแวะของชุมชนท่าเขา เป็นธุรกิจหนึ่งที่ผู้ใหญ่หยาเปิดให้บริการที่พักบริการนักท่องเที่ยว เป็นธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว มีจำนวนที่พัก 13 หลังและร้านกาแฟเล็ก ๆ แต่เจอกับปัญหาค่าไฟที่สูงมากถึงประมาณสองหมื่นกว่าบาทต่อเดือน ไม่แตกต่างไปจากธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ทบนเกาะยาวในปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 168 แห่ง ซึ่งมีตัวเลขค่าใช้จ่ายของการใช้ไฟฟ้าของแต่ละแห่ง เฉลี่ยประมาณเดือนละ 10,000-20,000 บาท
“วันไหนไฟฟ้าดับ รายได้เราเป็นศูนย์เลย ถ้าเราไม่ได้เตรียมพลังงานทางเลือกรองรับไว้ ก็เป็นปัญหากับเรา เรื่องโซลาร์เซลล์ ผมได้ยินมานาน แต่ก็ไม่รู้ว่าต้องมีขั้นตอนในการทำอย่างไร ไม่มีความรู้เลยครับ พยายามหาทางเน็ตบ้าง แต่ว่าส่วนใหญ่เราก็ไม่มั่นใจ แต่ในใจลึก ๆ อยากได้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง บังเอิญว่าโครงการเกาะพลังงานสะอาดของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าลงมา ผมก็ตั้งใจว่าผมต้องไปหาความรู้ตรงนี้ให้ได้ ไปถามให้ได้ว่าข้อดีข้อเสียคืออะไร “
“ผมตั้งใจที่จะติดโซลาร์เซลล์ ก็พยายามศึกษา พยายามถามคนอื่น แต่ว่ายังขาดความมั่นใจ เพราะว่าถ้าเราลงทุนไปแล้ว ในการบำรุงรักษาก็ดี การดูแลก็ดี ประโยชน์ที่ได้มันจะคุ้มมั้ย ทางนี้อาจารย์(สถาปนิกของโครงการ) เขาลงมาถึงคือมานั่งคุยกันเลย จับเข่าคุยกัน ให้แลแบบว่าเป็นแบบนี้ ทางอาจารย์เขาให้ความรู้ประกอบในการตัดสินใจมากพอสมควร”
นอกจากได้คุยกันแล้ว ผู้ใหญ่หยายังได้เข้าเข้าร่วมกิจกรรม กระบวนการมีส่วนร่วมของโครงการเกาะพลังงานสะอาดในทุกๆครั้งกับชาวชุมชนเกาะยาวทั้งหมด ทั้งในแง่การพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ และการอบรมความรู้ด้านโซลาร์เซลล์ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจบนเกาะยาว ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
จันทรัสม์ จันทรพิพรักษ์ สถาปนิกในโครงการฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคัดเลือกพื้นที่ศาลาคาเฟ่ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่งของโครงการเกาะพลังงานสะอาดว่า “ ตอนที่เราเลือกพื้นที่กัน เราไม่อยากได้พื้นที่เปล่าๆ เราอยากได้พื้นที่ที่เจ้าของพื้นที่มาร่วมเรียนรู้ด้วย ไม่ใช่แค่การที่เราเอาโซลาร์เซลล์มาติดให้เขา แต่เป็นการที่เราไปบอกว่าโซลาร์เซลล์ดีอย่างไร แล้วเขาอาสาขึ้นมา”
สำหรับศาลาคาเฟ่นั้น นับเป็นพื้นที่ต้นแบบในลักษณะของพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบการเรียนรู้ด้าน Active design และ Passive design ได้ ผู้ใหญ่หยายังยินดีที่จะร่วมเรียนรู้กับโครงการฯ และเป็นผู้ที่ลงทุนงบประมาณการติดตั้งโซลาร์เซลล์ด้วยตนเอง โดยทางโครงการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในการออกแบบปรับปรุงอาคารและออกแบบระบบโซลาร์เซลล์ให้
จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ศาลาคาเฟ่จะติดตั้งในระบบออนกริด ขนาดของกำลังไฟ 5.5 กิโลวัตต์ หากแต่ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ศาลาคาเฟ่ยังรอความพร้อม อยู่ในระหว่างการรองบประมาณในการติดตั้ง ในขณะที่แผนการปรับปรุงอาคารในส่วนอื่นๆ ก็มีการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
การใช้โซล่าร์เซลล์เป็นพลังงานทางเลือกและการออกแบบอาคารเพื่อสภาวะอยู่สบาย
ภายใต้แนวความคิด (Active & Passive Design)
แนวความคิดในการออกแบบ: จากเป้าหมายของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ศาลาคาเฟ่ เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกและลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า อาจารย์สุชน ทรัพย์สิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีของโครงการฯ เพิ่มเติมข้อมูลในส่วนของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ว่า
“ร้านกาแฟมี 2 โซน คือโซนด้านนอกและด้านใน โซนด้านนอกเราเจอว่าร้อนเกินไป มีแสงแดดที่เข้มเกินไป เราก็มีการออกแบบปรับปรุงด้วยการปิดช่องแสงที่เป็น Skylight และเราจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บริเวณชายคาที่ปรับยื่นออกไป แสงพร้อมกับความร้อนเข้ามาในอาคารได้น้อยลง มีผลให้เครื่องปรับอากาศกินไฟน้อยลง”
นอกจากการออกแบบ Active energy โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้ว โครงการฯ ได้วางแผนปรับปรุงภาพรวมของอาคาร โดยคำนึงถึงแนวทางการออกแบบอาคารเพื่อสภาวะอยู่สบาย โดยนำแนวคิด Passive design มาช่วยแก้ปัญหาที่พบว่ามีปริมาณความร้อนที่เข้าสู่อาคารจากทางหลังคา และมีการสะสมความร้อนบริเวณใต้หลังคา ซึ่งไม่มีการระบายความร้อน จนทำให้ไอร้อนจากหลังคาส่งผ่านเข้าสู่ตัวอาคาร รวมทั้งด้านหน้าของอาคารเป็นบริเวณที่รับแสงแดด เกิดการสะสมความร้อนบริเวณเปลือกอาคารและแผ่รังสีความร้อนเข้าสู่ในอาคารที่ติดเครื่องปรับอากาศ ทำให้ต้องใช้พลังงานมากขึ้น และเมื่อพบปัญหาอีกว่าตำแหน่งของช่องเปิดในบริเวณครัวมีน้อย อากาศไม่เกิดการไหลเวียนและเกิดการสะสมความร้อนจากการปรุงอาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้สามารถทำได้โดยการขยายพื้นที่ห้องครัวให้กว้างขึ้น และปรับปรุงให้เป็นครัวเปิด เพื่อสร้างการไหลของลมและการระบายอากาศ ถ่ายเทความร้อนออกจากห้องครัว พร้อมติดตั้งฝ้าเพดานเพิ่มเข้าไป โดยระบบฝ้ามีช่องระบายอากาศ และฉนวนกันความร้อน
สำหรับส่วนผนังห้องครัวที่เดิมเป็นผนังทึบ ก็สามารถปรับโดยการใช้ผนังเป็นระแนงในส่วนครึ่งบนของผนังในส่วนทิศเหนือ และทิศตะวันตก ทำให้มีช่องเปิดระบายความร้อนเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซนต์ ช่วยระบายความร้อนออกไปได้มากขึ้น
พื้นที่ต้นแบบพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการ
เมื่อผู้ประกอบการสนใจและลงมือปรับเปลี่ยน เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถึงแม้ว่าการเริ่มต้นจะต้องมีการลงทุนพอสมควร ในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ผู้ใหญ่หยาบอกว่า
“ คิดตามที่ทีมงานบอกว่าช่วงคุ้มทุนประมาณ 5 ปี โซลาร์เซลล์อายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 25 ปี หาก5 ปีเราคืนทุน เราถือว่าอีก20 ปีคือกำไร เราก็คิดว่า เราจ่ายค่าไฟล่วงหน้า ถึงแม้ว่าเราลงทุนสูงนิดหนึ่ง แต่ว่าในความตั้งใจว่าอย่างน้อยเรามีพลังงานทางเลือก เราได้เอาแดดที่มีมากมายมาใช้ประโยชน์ มาช่วยค่าไฟตรงนี้ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งเราก็ได้ทำให้เป็นต้นแบบ เผื่อใครที่สนใจที่เขามีพื้นที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ได้มาดูว่า..เออเราไม่ใช่ไม่มีไฟฟ้าเสียทีเดียว อย่างน้อยเราสามารถเลือกได้ ”
“ ถ้าลงทุนสองแสนกว่าบาทที่อาจารย์บอกมา ร้านกาแฟข้างล่างใช้ไฟต่อเดือนประมาณหกพันกว่าบาท อาจารย์ว่าถ้าเราติดขนาดที่ว่านี้ จะลดค่าไฟได้เดือนละประมาณสามพันกว่าบาท ก็ถือว่าโอเค อย่างน้อยถ้าว่าเราเห็นแล้วว่าในอนาคตมันเป็นไปได้ เราก็คิดว่าเราค่อยขยายต่อไป
อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดคือไฟฟ้าของเรามาจากภูเก็ต มาจากเคเบิ้ลใต้น้ำนะครับ แน่นอนมันก็ต้องมีวันหมดอายุ ผมคิดว่าถ้าเรามีไฟฟ้าของเราเตรียมไว้ วันหนึ่งบังเอิญสมมุติว่าไฟฟ้ามันเกิดปัญหา มันเกิดใช้ไม่ได้ขึ้นมา เราก็มีไฟฟ้าสำรอง ผมคิดไปถึงจุดนั้นนะครับ อย่างเคยมีประสบการณ์ที่เกาะสมุย เคเบิ้ลใต้น้ำเกิดปัญหา ไม่สามารถใช้ได้หลายวัน ทำให้มีปัญหาในการทำธุรกิจอะไรต่าง ๆ”
“ การใช้โซลาร์เซลล์ จะคืนทุนได้ใน 5 ปี ในขณะที่อายุการใช้งานนานถึง 20 ปี ตอบโจทย์ในเรื่องการประหยัด นำมาใช้งานได้จริง ในงบประมาณที่เจ้าของคืนทุนได้ ผู้ประกอบการก็จะเห็นว่าเป็นไปได้ ไม่ใช่แค่หลักวิชาการอย่างเดียว” อ.สุชน ยืนยัน
เมื่อถึงคำถามสุดท้ายที่ถามผู้ใหญ่หยาว่า ผู้ใหญ่คิดว่าเกาะยาวเหมาะกับการใช้โซลาร์เซลล์หรือไม่ ผู้ใหญ่หยาตอบทันทีว่า “ เหมาะครับ พูดอย่างไม่ต้องคิดเลย เหมาะมาก ๆ เพราะเกาะยาวเราทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทุกชุมชนค่อนข้างจะเอาใจใส่ทางนี้ ไม่ว่าเรื่องความสะอาดของขยะก็ดี ความสะอาดของเกาะ ธรรมชาติของเกาะ ป่าไม้อะไรต่าง ๆ เราพยายามช่วยกัน การได้พลังงานสะอาดแบบนี้เข้ามาช่วยบนเกาะด้วย ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งนะครับ
ตอนนี้ทุกคนคอยแลอยู่ ผมได้ไปคุยกับหลายๆคน ถ้าได้ผล เขาก็จะทำตามกัน..
อยากเชิญชวนให้สมาชิกเครือข่ายของเราทำด้วย ถ้าเรามีหลาย ๆ คนทำแบบนี้นะครับ ต่อไปคนข้างนอกจะเข้ามา อย่างน้อยก็มาเที่ยวกัน มาแลกัน มาศึกษาได้ มาแลเป็นแบบอย่าง คงเป็นประโยชน์โดยรวมครับ”
ศาลาคาเฟ่ ร้านเล็ก..คิดใหญ่ที่ตั้งใจวางแผนในการเลือกใช้พลังงานสะอาดเพื่อช่วยดําเนินธุรกิจ แนวคิดและวิธีการสร้าง “คาเฟ่พลังงานสะอาด” ต้นแบบพื้นที่พลังงานสะอาดของเกาะยาวน้อยที่ผู้ใหญ่หยามุ่งหวังที่จะสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ให้คนในชุมชนได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องการใช้พลังงานสะอาดบนเกาะยาวอย่าง ยั่งยืน ยาว
เมื่อประเทศเราเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับมา “ผู้ใหญ่หยา” ก็พร้อมจะลงมือทำฝันนี้ให้เป็นจริง