เครือข่ายเกาะพลังงานสะอาด

Pic 1 01

 อำเภอเกาะยาว ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “พังงาแห่งความสุข” ซึ่งเป็นจังหวัดแรก ๆ ของประเทศที่ภาคประชาชนและประชาสังคม ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาเมืองไปสู่ความสุข โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ 10 ข้อ เพื่อนำไปสู่ “พังงาแห่งความสุข” นั้นคือ

การสร้างระบบการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนที่ต้องก้าวไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว โดยภาคประชาสังคมจังหวัดพังงา ร่วมกับหอการค้าจังหวัดพังงา พร้อมทั้งตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ขับเคลื่อนแนวคิดพังงาเมืองแห่งความสุขนี้มาเป็นระยะเวลามากกว่า 6 ปีจนถึงปัจจุบัน เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย โดยแนวทางขับเคลื่อนสู่ปฏิบัติการการท่องเที่ยวสีเขียว อาหารปลอดภัย และผังพัฒนาภาคประชาชนที่สำคัญ คือ การกำหนดอนาคตการพัฒนาเมืองด้วยพลังงานสีเขียว ซึ่งสถาบันอาศรมศิลป์ได้ร่วมดำเนินงานในส่วนของการจัดทำผังยุทธศาสตร์ภาคประชาชนจังหวัดพังงาและผังพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคประชาชนเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา การส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนเพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์เกาะพลังงานสีเขียวสำหรับเกาะในทะเลอันดามัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการนำศักยภาพของพลังงานทดแทนที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต ชุมชนที่อยู่ห่างไกล

     จะเห็นได้ว่า ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เกาะยาวที่มีความพร้อม และจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายผลโครงการเกาะพลังงานสะอาดได้ในอนาคตนั้น ประกอบด้วย 3 ระดับ ดังนี้

1. ระดับท้องถิ่น : เครือข่ายภาคประชาชน ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว

เครือข่ายภาคประชาชนของเกาะยาว เป็นชุมชนชาวมุสลิม 99% มีความเข้มแข็งและความพร้อมสูง มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรบนเกาะอยู่ก่อนแล้ว เช่น โครงการจัดการขยะแบบเชิงกลและชีวภาพ (MBT) โดยชุมชน ขนาด 5 ตันต่อวัน ขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีบริหารจัดการขยะชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีการลงนามความร่วมมือดำเนินโครงการ 3 ฝ่าย (สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยา ศาสตร์ฯ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย) เมื่อปีงบประมาณ 2546 เป็นต้น หรือเครือข่ายภาคประชาชนเอง เช่น เครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย (เกาะยาวน้อยโฮมสเตย์) ซึ่งมีที่มาจากการเกิดวิกฤตทรัพยากรธรรมชาติ ในปี 2530 – 2535 เรือพาณิชย์และเรือท่องเที่ยว ได้เข้ามาทำลายทรัพยากรหญ้าทะเล ปะการัง และสัตว์น้ำวัยอ่อน ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงพื้นบ้าน ในปี 2538 จึงมีการรวมตัวรณรงค์ และช่วยรัฐปราบปราม และสร้างจิตสำนึก จนกระทั่งในปี 2540 เกิดความตระหนักรู้ของคนในชุมชนและบุคคลภายนอกทำให้ทรัพยากรดีขึ้น ผู้คนสนใจมาดูงาน และเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการ ชุมชนจึงนำการท่องเที่ยวมาต่อยอดให้คนมาเรียนรู้ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ และได้จัดทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายเกษตรรุ่นใหม่ (Smart Farmer)  เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน ชุมชนในพื้นที่เกาะยาวจึงมีศักยภาพสูงที่สามารถขับเคลื่อนโครงการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่เกาะอื่นๆ ได้

Pic 2 01
Pic 3 01

2. ระดับจังหวัด : เครือข่ายพังงาแห่งความสุข, พังงาสีเขียว (Phung Nga Go Green)

กลุ่มพังงาแห่งความสุขและพังงาสีเขียว เริ่มต้นจากคำแนะนำและความช่วยเหลือของกลุ่มอันดามันสีเขียว (Andaman Go Green) ที่มีวิสัยทัศน์ในการรักษาและบริหารทรัพยากรของจังหวัดพังงาอย่างยั่งยืน โดยแกนนำในการขับเคลื่อนประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดพังงา ร่วมกับตัวแทนภาครัฐสถาบันการศึกษา ที่เกี่ยวข้อง เช่น โยธาธิการจังหวัดพังงา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข สภาองค์กรชุมชน กลุ่ม Young Smart Farmer จังหวัดพังงา เป็นต้น โดยระดับจังหวัดนี้ขับเคลื่อนในระดับนโยบายเพื่อทำให้พังงามีการท่องเที่ยวยั่งยืน ประชาชนชาวจังหวัดพังงาสามารถประกอบอาชีพได้อย่างเป็นธรรมบนหลักแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ระดับดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคให้เชื่อมถึงกันทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ

Pic 4 01

3. ระดับภูมิภาค : เครือข่ายอันดามันสีเขียว (Andaman Go Green)

เริ่มต้นจากกลุ่ม NGOs

ที่มีความพยายามในการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของอันดามันในวงกว้าง สู่การตั้งเป็นกลุ่มเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่จะเสนอแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มจังหวัดชายฝั่งอันดามันอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านท่องเที่ยว การเกษตรกรรม การประมง การใช้พลังงาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยกลุ่มอันดามันสีเขียวในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะประสานความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น โดยโมเดลที่ใช้ คือ กระบี่สีเขียว (Krabi Go Green) และ พังงาสีเขียว (Phung Nga Go Green) โดยพังงาสีเขียวมีเป้าหมายในการสร้างผังพัฒนาจังหวัดภาคประชาชน และผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะเกาะยาวน้อย โดยการระดมความคิดเห็นจากตัวแทนชุมชน  เพื่อร่วมเสนอแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองต่อภาครัฐต่อไปในอนาคต

Pic 6 01